ตัวแปรที่กำหนดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ตัวแปรที่กำหนดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญมี 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่
1.การปฏิวัติอินเตอร์เน็ต (Internet Revolution)
เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น
เพราะจากประชากรทั้งโลกประมาณ 6,000 ล้านคน
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกในปัจจุบันมีประมาณ 300 ล้านคน เฉลี่ย 1 ใน 20 คนเท่านั้น
และกว่าครึ่งหนึ่งของ 300 ล้านคนเป็นผู้ใช้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
แสดงว่าประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของอเมริกาใช้อินเตอร์เน็ตแล้ว
เพราะอเมริกามีประชากรทั้งหมดประมาณ 274 ล้านคน แต่ประเทศอื่นๆ
ทั่วโลกยังใช้กันน้อย ประเทศที่จะใช้กันมากขึ้นต่อไปคือประเทศในเอเชีย
การเพิ่มขึ้นของการใช้อินเตอร์เน็ตจะเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน
เชื่อมโยงระบบข้อมูลข่าวสาร ต้นทุนการติดต่อจะลดราคาลง
นี้เป็นแนวโน้มที่หมายถึงว่าต่อไปโลกทั้งโลกจะถูกกระแสของความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีข่าวสาร
(Information Technology) เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ
2.การกระจายตัวของธุรกรรมทางการเงิน (Financial Diversification)
แต่เดิมมาธุรกิจการเงินส่วนใหญ่มักจะกระจุกอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 80-90
ของสินเชื่ออยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ต่อไปจะมีการกระจายตัวของธุรกิจการเงินมากขึ้น
ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน
3.ข้อตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจเสรีของโลก (Free Economic Agreement)
ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น องค์กรการค้าโลก (WTO) เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
(NAFTA) เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก
(APEC) ฯลฯ จะมีมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะเปิดกว้างต่อการค้า ภาคการบริการ
การลงทุนระหว่างประเทศมาก จะมีตัวแปรจากต่างประเทศมากำหนดมากขึ้น
เพราะเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ เฉพาะมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (การนำเข้าและการส่งออก)
รวมกันแล้วมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ (GDP
ปัจจุบันของไทยประมาณ 5 ล้านล้านบาท) เฉพาะการส่งออกอย่างเดียวมีมูลค่า 2.6
ล้านล้านบาท นำเข้าประมาณ 2 ล้านล้านบาท
ตัวแปรเหล่านี้จะทำให้เราถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น
พัฒนาการภาคการเงินของโลกในอนาคต
ความเปลี่ยนแปลงในศูนย์กลางการเงินของโลก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้กฎหมาย Glass-Steagall Act กฎหมายฉบับนี้มีมาตั้งแต่
ค.ศ. 1933 มีขึ้นเพราะปี 1929 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ
ล้มเพราะความไร้วินัยทางการเงิน กฎหมายฉบับดังกล่าวแบ่งธุรกิจการเงินออกเป็น 3
ประเภทคือ
1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
2) ธุรกิจธนาคารเพื่อการลงทุน หรือธุรกิจไฟแนนซ์ และ
3) ธุรกิจประกันชีวิต
และห้ามทำธุรกิจการเงินไขว้กัน เช่น
บริษัทที่ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกิจประกันชีวิตด้วยไม่ได้
แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ได้รับการแก้ไขให้ทำธุรกิจไขว้กันได้
ต่อไปตลาดเงินตลาดทุนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
เพราะเส้นแบ่งทางธุรกิจการเงินได้ถูกลบหายไปแล้ว นั้นเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้น
ในประเทศไทยเอง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำลังเตรียมเสนอแก้กฎหมายในลักษณะเดียวกันกับ
Glass-Steagall Act เข้าสภาเพื่อเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจธนาคารครอบจักรวาล
(Universal Banking) ได้
นับแต่นี้ไปสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางการเงินจะเกิดขึ้นอย่างมากมายและต่อเนื่อง
นอกจากในสหรัฐอเมริกาศูนย์กลางทางการเงินของโลกแล้ว จะเกิดขึ้นทั่วโลก
รวมทั้งประเทศไทยด้วย
การบริหารการออม (Saving Management)
ความเปลี่ยนแปลงทางการเงินมีผลต่อการบริหารการออม ทิศทางการออมของโลก
4-5 เรื่องหลักๆ ที่ควรรู้ เพื่อช่วงชิงผลด้านบวก และลดทอนผลด้านลบ
1.ระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้
ประเทศไทยให้สวัสดิการกับประชาชนน้อยมากที่สุดแห่งหนึ่ง และจะน้อยต่อไป
ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีสวัสดิการเลย
เฉพาะกลุ่มข้าราชการที่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้นที่รัฐมีสวัสดิการให้
รัฐบาลก็ไม่มีศักยภาพจะให้สวัสดิการ สาเหตุหลักคือ 1) รัฐบาลมีหนี้สาธารณะมาก
ปัจจุบันมีประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท (ถ้ารวมหนี้ทั้งหมดที่จะต้องใช้คืน IMF
ด้วยมีหนี้ไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านล้านบาท) 2) รายจ่ายหลักของรัฐบาล 75
เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด (9.1 แสนล้านบาท) เป็นงบประจำ
เพื่อจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ดอกเบี้ยเงินกู้ มีเพียง 25% เท่านั้นที่เป็นงบลงทุน
สาเหตุจากข้อจำกัดของภาครัฐดังกล่าว
ทำให้รัฐมีข้อจำกัดในการเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน ดังนั้น
ประชาชนต้องพึ่งสวัสดิการจากแหล่งอื่น ไม่ใช่จากภาครัฐ
2.เงินออมประเภทสวัสดิการสังคม (Social Welfare)
ปัจจุบันมี
1) กองทุนบำเหน็จของข้าราชการ (กบข.) มีเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท
2) เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจมีประมาณ 180,000 ล้านบาท และ
3) กองทุนสวัสดิการสังคมของผู้ใช้แรงงานมีประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท
รวมกันแล้วทั้งประเทศมีกองทุนสวัสดิการสังคมประมาณ 500,000 ล้านบาท
แนวโน้มในอนาคตคงจะมากขึ้น
เพราะปัจจุบันผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในระบบสวัสดิการสังคมทั้งประเทศมีไม่เกิน 8
ล้านคนจากแรงงานทั้งหมด 31 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ 20%
ของประชากรวัยทำงานที่อยู่ในระบบสวัสดิการสังคม)
ประเทศยิ่งพัฒนามากเท่าไร เงินกองทุนประเภทนี้ยิ่งโตมากขึ้น เช่น
เงินที่สิงคโปร์มาลงทุนในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นเงินสวัสดิการสังคมของสิงค์โปร์ที่ดำเนินการในนามบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์
(Singapore Government Investment Corporation) ที่มีนายลี กวน ยู
อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเห็นได้ว่าระบบการออมในประเทศยิ่งพัฒนามากเท่าไร
เงินสวัสดิการยิ่งขยายตัว และหาลู่ทางในการลงทุน
เห็นได้ชัดว่าระบบการออมของประเทศต่างๆ ยิ่งพัฒนามากขึ้น
เงินส่วนนี้จะขยายตัวและลู่ทางในการลงทุนเพื่อบริหารเงินออม กล่าวโดยสรุป
ปัจจุบันนี้เงินสวัสดิการสังคมถูกนำมาใช้เพื่อการลงทุนทั่วโลก
3.การลงทุนในภาคการเงิน (Financial Sector)
ประกอบด้วย 2 ตลาดหลักคือ
1) ตลาด เงิน (Money Market) หมายถึงตลาดการทำธุรกิจการเงินระยะสั้น เช่น
ธนาคาร
2) ตลาดทุน (Capital Market) ได้แก่ ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ เช่น
พันธบัตรรัฐบาล ในประเทศไทยจะโตอย่างมาก เพราะรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ
ต้องหาเงินมาปิดหีบงบประมาณด้วยการกู้
นโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จึงต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายการคลังแทน
นโยบายการคลังมี 2 เรื่องคือการได้มาของรายได้ของรัฐและการใช้จ่ายของรัฐ
ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ตลาดตราสารหนี้ไม่ค่อยโต
เพราะรัฐบาลไม่ต้องกู้ แต่นับแต่นี้ไป ตลาดตราสารหนี้จะโตขึ้นมาก
(จะเป็นคู่แข่งกับธุรกิจประกันชีวิต) อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล เช่น
พันธบัตรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่รัฐบาลค้ำประกัน กู้ 8 ปี
อัตราดอกเบี้ย 5.7% กู้ 14 ปี ดอกเบี้ย 7% กว่า
ข้อมูลตัวเลขนี้สามารถนำไปเป็นตัวแปรในการเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ประกันชีวิตมีให้ได้
ธุรกิจที่จะโตอย่างมากก็คือธุรกิจประกัน ทั้งประกันชีวิตและประกันภัย
เพราะระบบสวัสดิการสังคมที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
รัฐบาลญี่ปุ่นให้สวัสดิการประชาชนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป
เพราะไม่ต้องการให้คนว่างงานแบบสมัครใจเพื่อรอรับเงินเลี้ยงชีพเหมือนอย่างบางประเทศในยุโรป
ทางออกของประชาชนคือการสร้างระบบสวัสดิการให้ตนเองด้วยการซื้อประกันชีวิตให้ตนเอง
คนญี่ปุ่นบางคนมีประกันชีวิตถึง 4-5 กรมธรรม์
แนวโน้มในเมืองไทยมีโอกาสจะเป็นเช่นนั้นได้
เมื่อทิศทางของธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตัวแทนประกันชีวิตจะเตรียมตัวอย่างไรให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตอย่างยั่งยืน
และมีคุณภาพ?
คู่แข่งของธุรกิจประกันชีวิต
อดีตประชาชนฝากเงินไว้ในธนาคารหวังกินดอกเบี้ยในบั้นปลาย แต่สิ่งนี้เปลี่ยนไปแล้ว
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีปัญหาต้องปรับตัว
เราจะช่วงชิงอาศัยโอกาสนี้พัฒนาการออมระยะยาวหรือประกันชีวิตให้ขึ้นมาแทนที่ได้อย่างไร
ปัญหาของธนาคารพาณิชย์มี 2 ระดับ ได้แก่
1.ปัญหาเฉพาะหน้า
1) แก้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่แก้ต่อเนื่องกันมาหลายปี
ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของภาคการเงินไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้
ตอนนี้ตัวเลข NPL ยังอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท (ประมาณ 32%
ของสินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ที่มีประมาณ 5.05 ล้านล้านบาท)
ปัญหานี้จะจัดการได้ยากขึ้น เพราะที่ปรับโครงสร้างหนี้ได้ทำไปหมดแล้ว กลไกการของ
AMC ยังบริหารหนี้ได้ไม่มีประสิทธิภาพพอ
2) ธนาคารพาณิชย์ต้องตั้งทุนสำรองให้ครบ 100% ภายในปี 2543 นี้
ต้องใช้เงินอีกหลายแสนล้านบาท
3) ปัญหาการลดต้นทุน การลดต้นทุนที่นิยมทำกันมาคือการลดดอกเบี้ยเงินฝาก
เพราะดอกเบี้ยทุก 1 เปอร์เซ็นต์ที่ลดลง ธนาคารประหยัดได้ทันที 4.6 หมื่นล้านบาท (เงินฝากทั้งระบบมีประมาณ
4.6 ล้านล้านบาท) แต่ต่อไปทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำมาก
และสวนทางกับตลาดโลก ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลออก และสร้างผลกระทบข้างเคียงอื่นๆ
ตามมาอีก การลดดอกเบี้ยคงไม่ใช่ทางออกของธนาคารพาณิชย์อีกต่อไป
ทางออกต่อไปคือลดพนักงานลงอีกประมาณ 20,000-30,000 คน
ปัจจุบันธนาคารทั้งระบบมีพนักงานอยู่ประมาณ 90,000 คน เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีประมาณ
110,000 คน และลดสาขาลงตาม
2.ปัญหาระยะยาว ปัญหาการบริหารความเสี่ยง
เดิมธนาคารพาณิชย์ใช้สินทรัพย์ค้ำประกันในการปล่อยสินเชื่อ
แต่ตอนนี้ฝ่ายสินเชื่อจะถูกถ่วงดุลด้วยฝ่ายบริหารความเสี่ยงที่ตั้งขึ้นมาใหม่
ถ้าผู้กู้มั่นคงแล้วจึงจะปล่อยกู้
ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวอย่างมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ภาคการเงินต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
สิ่งที่ต้องทำในการแก้ปัญหา
สิ่งที่ต้องทำเพื่อเป็นกรอบในการทำงานคือการตอบปัญหา 6 ข้อต่อไปนี้ให้ได้
1.อะไรคือปัญหา (What) เป็นการตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหา
2.ทำไมจึงเกิดขึ้น (Why)
3.จะแก้ไขปัญหาอย่างไร (How) ถ้ารู้ข้อ 1 และข้อ 2 แต่ไม่มีข้อ 3 ก็ไม่มีประโยชน์
4.จะทำเมื่อไร (When)
5. แก้ปัญหาที่ไหน ตามลำดับความสำคัญ (Where)
6.คนที่จะแก้ปัญหา (Who)
กลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจ
นักธุรกิจต้องคำนึงถึง 5
ข้อต่อไปนี้เพื่อที่จะทำให้อยู่รอดปลอดภัยในกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะส่งผลทั้งด้านลบและด้านบวก
1.การบริหารต้นทุน (Cost Management) ได้แก่ วัตถุดิบ การจัดการ เทคโนโลยี
2.การบริหารการตลาด (Marketing Management) ตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน
กลุ่มที่เติบโตในช่วงนี้คือกลุ่มที่เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจใหม่ เช่น อิเล็กทรอนิกส์
ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ และกลุ่มที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3.การบริหารการเงิน (Financial Management) อัตราดอกเบี้ย
อัตราแลกเปลี่ยนที่กระทบต่อการประกอบการทุกวงการ แม้แต่การเกษตร
4.การบริหารนวัตกรรม (Innovation Management) ติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่
มีความเปลี่ยนแปลงทั้งการบริหารต้นทุน การตลาด การเงิน
ผู้บริหารที่ดีต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมของโลกให้ทันแล้วนำมาปรับใช้
5.การบริหารข่าวสารข้อมูล (Information Management) ต้องคำนึงถึงความเพียงพอ
ความถูกต้องแม่นยำ ความทันการ
กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ
1.ปรับขนาดขององค์กรให้เหมาะสม หลังฟองสบู่แตก ปัญหาการลดขนาดกิจการของธุรกิจ
(Downsizing) เป็นปัญหาที่กำลังแก้กันอยู่ในขณะนี้
2.มุ่งความชำนาญการเฉพาะอย่าง (Specialization)
ช่วยให้การบริหารต้นทุนและตลาดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะยึดปรัชญา "ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ"
อีกต่อไปไม่ได้
3.ต้องถึงจุดคุ้มทุนเร็ว (Break-even) เพราะความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ที่ลอยตัว
ทั้งค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย ค่าพลังงาน หุ้น ราคาโภคภัณฑ์ ค่าบริหารความเสี่ยง
ที่ล้วนแล้วแต่ลอยตัว
สิ่งที่ผมอยากจะฝากให้คิดคือธุรกิจจะมีความคล่องตัวอย่างไรจึงจะอยู่กับการลอยตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ?
เพราะเราไปเปลี่ยนการลอยตัวไม่ได้
(รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์) |