การประกันกลุ่ม (Group Insurance)

การประกันกลุ่ม (Group Insurance)

การประกันชีวิต (Life Insurance) เป็นวิธีการที่กลุ่มบุคคลร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ประสบภัยหรือผู้เกี่ยวข้อง โดยบุคคลกลุ่มนี้ต้องจ่ายเงินเป็นค่าเบี้ยประกันให้แก่บริษัทผู้รับประกันชีวิต โดยบริษัทประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองและจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประสบภัยภัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้ประสบภัยโดยทั่วไปหมายถึงตัวผู้เอาประกันเอง (Insured) ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันซึ่งส่วนมากได้แก่ สมาชิกครอบครัวหรือทายาทหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นบุคคลที่ผู้เอาประกันระบุให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) นั่นเอง

นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอาจเป็นเจ้าหนี้ (Lender or Creditor) ของผู้เอาประกันก็ได้ หากผู้เอาประกันในฐานะลูกหนี้ (Debtor) นั้นได้ทำประกันไว้เพื่อคุ้มครองหนี้ (Debt or Loan) โดยผลประโยชน์ของประกันชีวิตจะจ่ายให้แก่เจ้าหนี้หากผู้เอาประกันประสบกับภัยที่ได้ระบุไว้

โดยทั่วไปผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในการเอาประกัน (Insurable Interest) ด้วย ส่วนได้เสียในการเอาประกันภัยคือความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้เอาประกัน ที่หากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันจะได้ประโยชน์กว่า แต่ถ้าเกิดภัยขึ้นกับผู้เอาประกันแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องจะเสียประโยชน์กว่า

ปัจจุบัน ประกันชีวิตมีด้วยกัน 3 ประเภทคือ

1.ประกันชีวิตประเภทลูกค้ารายเดี่ยว หรือรายสามัญ (Individual or Ordinary Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่มีผู้เอาประกันหนึ่งรายต่อหนึ่งกรมธรรม์ มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป (ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินเอาประกันชีวิตรายสามัญอยู่ที่ 220,000 บาท/กรมธรรม์) ประกันชีวิตรายสามัญจะเน้นกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตอาจจะมีการตรวจสุขภาพ (Medical Examination) หรือไม่ตรวจสุขภาพ (Non-Medical Examination) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท (โดยส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับวงเงินเอาประกันภัย อายุและสุขภาพของผู้เอาประกัน) และผู้เอาประกันยังสามารถเลือกการชำระเบี้ยประกันภัย (Mode of Payment) เป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือนก็ได้

2.ประกันชีวิตอุตสาหกรรม (Industry Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่มีผู้เอาประกันหนึ่งรายต่อหนึ่งกรมธรรม์เช่นกัน แต่จะมีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่าประกันชีวิตรายสามัญ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท (ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินเอาประกันชีวิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 70,000-80,000 บาท/กรมธรรม์)

ประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรมจะเน้นกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ผู้เอาประกันมักจะชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ แต่จะกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) คือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติในระหว่างระยะเวลารอคอย บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด โดยส่วนมากระยะเวลารอคอยมักกำหนดไว้ที่ 180 วัน ทั้งนี้ระยะเวลารอคอยอาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่เงื่อนไขของบริษัท

3.ประกันชีวิตกลุ่ม (Group Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนผู้เอาประกันหลายคนภายใต้กรมธรรม์หนึ่งฉบับ (Single Master Contract หรือ Master Policy) ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท นอกจากนี้กลุ่มผู้เอาประกันอาจเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกของหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น สมาคมวิชาชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทสินเชื่อ มหาวิทยาลัย หรือโรงเรียน เป็นต้น (เรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า Natural Group) แต่ต้องไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อทำประกันกลุ่มโดยเฉพาะ ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

การประกันชีวิตกลุ่มอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการทำประกัน ได้แก่

1. การประกันชีวิตกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการลูกจ้าง (Group Employer-Employee Life Insurance or Group Employee Benefit) การประกันชีวิตกลุ่มประเภทนี้เป็นการประกันชีวิตที่นายจ้าง (Employer) จัดทำเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง (Employee) โดยมีลูกจ้างเป็นผู้เอาประกัน โดยทั่วไปนายจ้างมักจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันทั้งหมดแทนพนักงาน แต่บางกรณีนายจ้างอาจจ่ายค่าเบี้ยประกันแทนลูกจ้างบางส่วน โดยลูกจ้างเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตส่วนที่เหลือ นอกจากนี้นายจ้างอาจเป็นเพียงผู้จัดหาการประกันชีวิตกลุ่มให้แก่ลูกจ้างเท่านั้นแต่ไม่ได้ชำระเบี้ยแทน โดยในกรณีนี้ลูกจ้างจะต้องเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันเองทั้งหมด

การประกันชีวิตกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างนี้มักไม่กำหนดคุณสมบัติการมีสิทธิ์เข้าร่วมของสมาชิกผู้เอาประกัน (Eligibility Requirement) ไว้หรือกำหนดคุณสมบัติไว้เพียงบางอย่าง แต่โดยทั่วไปลูกจ้างทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมการทำประกันเหมือนกันทั้งหมด โดยบางกรณีลูกจ้างอาจปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประกันได้ เช่น กรณีที่ลูกจ้างต้องร่วมสมทบการจ่ายเบี้ยประกัน ในทางตรงข้ามนายจ้างไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าร่วมการประกันได้

2. การประกันชีวิตกลุ่มเพื่อคุ้มครองสมาชิกองค์กร (Group Membership or Group Affinity Life Insurance) การประกันชีวิตกลุ่มประเภทนี้เป็นการประกันชีวิตที่หน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้จัดหามาให้แก่สมาชิกภายในหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปสมาชิกของหน่วยงานหรือองค์กรจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันของตัวเองทั้งหมด การประกันชีวิตกลุ่มประเภทนี้มักจะกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกที่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมการทำประกันไว้ เฉพาะสมาชิกที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วม ดังนั้นสมาชิกบางคนอาจไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมหากขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งไป

การรับประกันกลุ่มมักมีความเสี่ยงจาก anti-selection* น้อยกว่าการรับประกันรายสามัญ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผู้เอาประกันกลุ่มนั้นไม่ได้สมัครเอาประกันเองเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์จากการเอาประกันเหมือนอย่างประกันรายสามัญ และการประกันกลุ่มนั้นเป็นการจัดหาให้แก่กลุ่มผู้เอาประกันโดยนายจ้างหรือองค์กรด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกกลุ่มมากกว่าวัตถุประสงค์อื่น

การประกันชีวิตกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการลูกจ้าง (Group Employer-Employee Life Insurance or Group Employee Benefit)

โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ว่าจะต้องมีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมการประกันไม่น้อยกว่า 5 คน โดยบริษัทผู้รับประกันจะออกกรมธรรม์ประกันภัยหนึ่งฉบับ (Single Master Contract หรือ Master Policy) ไว้ให้แก่นายจ้างซึ่งจะเป็นผู้ถือกรมธรรม์กลุ่ม (Group Policyholder)** และจะออกใบรับรองการเอาประกัน (Certificate of Insurance) หรือบัตรประจำตัวผู้เอาประกันกลุ่ม (Group Insurance Member Card)ให้แก่ผู้เอาประกันกลุ่ม (Group Insured) ที่เป็นลูกจ้างขององค์กร บางครั้งมีการเรียกผู้เอาประกันเหล่านี้ว่า Certificate Holder หรือ Card Holder

การประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างนั้น นายจ้างอาจจัดให้มีเฉพาะการประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดรวมกันก็ได้ หากเป็นประกันกลุ่มที่มีเฉพาะการประกันชีวิต (Group Life Insurance) มักเรียกผู้เอาประกันนี้ว่า Group Life Insured หากเป็นประกันสุขภาพกลุ่ม (Group Health Insurance) มักเรียกผู้เอาประกันประเภทนี้ว่า Group Person Insured หรือ Group Health Insured

การประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง มี 2 ประเภท คือ

1. แบบที่ลูกจ้างร่วมจ่าย (Contributory Group Insurance) การประกันกลุ่มให้แก่ลูกจ้างแบบนี้ นายจ้างจะกำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเบี้ยประกันร่วมด้วย โดยอัตราที่นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างต้องจ่ายมีทั้งร่วมจ่ายเพียงบางส่วนหรือลูกจ้างต้องจ่ายเบี้ยประกันเองทั้งหมดก็ได้ ถ้าเป็นการร่วมจ่ายมักกำหนดให้ลูกจ้างต้องจ่ายในอัตีาที่เท่ากัน ส่วนมากมักหักเงินที่ต้องร่วมจ่ายจากเงินเดือนลูกจ้าง ประกันกลุ่มประเภทนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า Voluntary Group Insurance คือเป็นการประกันกลุ่มที่ขึ้นกับความสมัครใจของลูกจ้าง เนื่องจากลูกจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยเพื่อเอาประกันกลุ่ม ดังนั้นลูกจ้างสามารถที่จะตัดสินใจเข้าร่วมการเอาประกันหรือปฏิเสธก็ได้ โดยทั่วไปมักกำหนดให้ต้องมีจำนวนของลูกจ้างเข้าร่วมอย่างน้อย 75 % ขึ้นไปของจำนวนลูกจ้างที่มีสิทธิ์ทั้งหมด

2. แบบที่ลูกจ้างไม่มีการร่วมจ่าย (Non-Contributory Group Insurance) เป็นการประกันกลุ่มที่นายจ้างจะจ่ายเบี้ยประกันแทนลูกจ้างทั้งหมด ดังนั้นลูกจ้างทุกคนมีสิทธิ์ในการได้รับประกันกลุ่มทั้งหมด บางครั้งอาจเรียกประกันกลุ่มแบบนี้ว่า Compulsory Group Insurance เนื่องจากลูกจ้างทุกคนจะได้รับการประกันจากนายจ้าง เพราะนายจ้างเป็นผู้จัดให้มีการเอาประกันให้ลูกจ้างทุกคน

การประกันกลุ่มแบบ Non-contributory จะมี anti-selection น้อยกว่าแบบ Contributory ทั้งนี้เนื่องจากการประกันกลุ่มแบบ Contributory นั้น ผู้เอาประกันสามารถตัดสินใจที่จะเข้าร่วมหรือปฏิเสธการเข้าร่วมการเอาประกันได้ ดังนั้นผู้ที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงน้อยอาจจะตัดสินใจไม่ร่วมการเอาประกัน ในทาวตรงกันข้ามผู้ที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงสูงมักจะตัดสินใจเอาประกันในการประกันกลุ่ม

การประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างมักจะกำหนดเงื่อนไขของลูกจ้างที่มีสิทธิ์ในการเอาประกัน (Eligibility Provision) เอาไว้

โดยทั่วไปมักจะกำหนดสิทธิ์ที่ลูกจ้างจะได้รับการเอาประกันกลุ่มเพื่อสวัสดิการเมื่อ

1. วันที่ลูกจ้างมาเริ่มงาน (Actively-at-work provision)

2. วันที่ลูกจ้างผ่านการทดลองงาน (Probationary period)

ในกรณีที่การประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นแบบ Non-contributory ลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองจากประกันกลุ่มอัตโนมัติเมื่อลูกจ้างผ่านเงื่อนไขที่กำหนดข้างต้น แต่ถ้าเป็นแบบ Contributory ลูกจ้างที่ตัดสินใจเข้าร่วมเอาประกันจะต้องลงทะเบียนหรือกรอกข้อมูลเพื่อเอาประกันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับผู้มีสิทธิ์เข้าร่วม (Eligibility Period) ซึ่งมักมีเวลาประมาณ 1 เดือน โดยที่ไม่ต้องส่งหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถในการเอาประกันได้ (Evidence of Insurability)*** หากลูกจ้างลงทะเบียนหลังจากผ่านระยะเวลานี้ไป อาจจะต้องส่งหลักฐานที่แสดงถึงการเอาประกันได้ให้แก่ผู้รับประกัน

นายจ้างมักจะกำหนดผลประโยชน์ (Benefit Schedule) ของการประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างไว้ตั้งแต่แรก ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน (Nondiscrimination) คือลูกจ้างที่มีคุณสมบัติเหมือนกันย่อมได้รับสวัสดิการประกันกลุ่มที่เท่าเทียมกัน ใน Benefit Schedule เป็นการระบุว่าความคุ้มครองที่บูกจ้างจะได้รับจากสวัสดิการในการประกันกลุ่มนั้นมีอะไรบ้างและมีจำนวนเท่าใด

การกำหนดผลประโยชน์ของการประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างนั้นสามารถกำหนดจากเงื่อนไขดังนี้

1. Equal or Standard Benefit ลูกจ้างทุกคนจะได้รับการประกันกลุ่มที่ให้ผลประโยชน์เท่ากัน เช่น ทุกคนได้รับวงเงินการประกันชีวิต 100,000 บาทและค่ารักษาพยาบาลปีละ 50,000 บาทเหมือนกัน เป็นต้น

2. Salary-Based Benefit Schedule ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับการประกันกลุ่มที่ให้ผลประโยชน์ตามระดับเงินเดือน เช่น ทุกคนได้รับวงเงินประกันชีวิต 32 เท่าของเงินเดือน หรือ เงินเดือนน้อยกว่า 50,000 บาทได้รับวงเงินประกันชีวิต 30 เท่าของเงินเดือน เงินเดือน 50,000 บาทขึ้นไปได้รับวงเงินประกันชีวิต 35 เท่าของเงินเดือน เป็นต้น

3. Length of Employment Based Benefit Schedule ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับการประกันกลุ่มที่ให้ผลประโยชน์ตามระยะเวลาที่ร่วมงาน เช่น ระยะที่ทำงานมาน้อยกว่า 3 ปีได้รับวงเงินประกันชีวิต 500,000 บาท หรือ 32 เท่าของเงินเดือน ถ้าระยะเวลาที่ทำงานอยู่ระหว่าง 3-5 ปี จะได้รับวงเงินประกันชีวิต 1,000,000 บาท หรือ 35 เท่าของเงินเดือน ถ้าระยะเวลาที่ทำงานมาเกิน 5 ปี จะได้รับวงเงินประกันชีวิต 1,500,000 บาท หรือ 40 เท่าของเงินเดือน เป็นต้น

4. Job Position Based Benefit ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับการประกันกลุ่มที่ให้ผลประโยชน์ตามตำแหน่งหรือระดับงาน เช่น ระดับพนักงานได้รับวงเงินประกันชีวิต 500,000 บาท หรือ 32 เท่าของเงินเดือน ระดับผู้จัดการจะได้รับวงเงินประกันชีวิต 1,000,000 บาท หรือ 35 เท่าของเงินเดือน ระดับผู้บริหารจะได้รับวงเงินประกันชีวิต 1,500,000 บาท หรือ 40 เท่าของเงินเดือน เป็นต้น

5. Blended Benefit Schedule คือการกำหนดผลประโยชน์ของสวัสดิการประกันกลุ่มให้แก่พนักงานด้วยวิธีข้างต้นมากกว่า 1 วิธี เช่น ระดับพนักงานได้รับวงเงินประกันชีวิต 500,000 บาท หรือ 32 เท่าของเงินเดือน แต่ถ้าพนักงานที่มีอายุงานเกิน 10 ปีจะได้รับวงเงินประกันชีวิต 1,000,000 บาท หรือ 35 เท่าของเงินเดือน เป็นต้น

นอกจากนายจ้างจะมีประกันกลุ่มที่เป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างแล้ว นายจ้างบางแห่งอาจให้ประกันกลุ่มครอบคลุมไปถึงคู่สมรส บุตรหรือบิดามารดาของลูกจ้างด้วย ซึ่งในการประกันกลุ่มจะเรียกคู่สมรส บุตรหรือบิดามารดาของลูกจ้างที่ได้สวัสดิการประกันกลุ่มว่า Dependent โดย Dependent อาจจะได้รับความคุ้มครองจากสวัสดิการประกันกลุ่มน้อยกว่าตัวลูกจ้าง เช่น วงเงินประกันชีวิตน้อยกว่า หรือวงเงินสำหรับประกันสุขภาพน้อยกว่า เป็นต้น

สำหรับการพิจารณารับประกันของการประกันกลุ่มเพื่อสวัสดิการของลูกจ้างนั้น ไม่ได้เน้นที่พิจารณาจากภาวะสุขภาพ (Health Condition) ของกลุ่มผู้เอาประกัน หรือสภาพที่เป็นมาก่อนเอาประกัน (Pre-Existing Condition) เพราะเป็นสวัสดิการประกันกลุ่มที่นายจ้างให้ลูกจ้าง จึงมักจะให้ความคุ้มครองสุขภาพโดยไม่ได้ยกเว้นโรคที่ลูกจ้างเป็นอยู่ก่อน

การพิจารณารับประกันกลุ่มจะเน้นพิจารณาที่วัตถุประสงค์ของการตั้งองค์กร (Reason of Group Exist) ขนาดของกลุ่มผู้เอาประกัน (Size of Group) และการเข้า-ออกของลูกจ้างใหม่ (Flow of New Member) รวมทั้งประสบการณ์การเคลมของกลุ่มผู้เอาประกัน (Group Claim Experience) เป็นหลัก หากขนาดกลุ่มผู้เอาประกันเล็กมาก เช่น มีผู้เอาประกันกลุ่มน้อยกว่า 10 คนอาจจะใช้วิธีการพิจารณารับประกันแบบเดียวกับการเอาประกันรายเดี่ยว แต่ถ้ามีกลุ่มผู้เอาประกันจำนวนมากอาจใช้ประสบการณ์เคลมของกลุ่มผู้เอาประกัน เป็นต้น นอกจากนี้หากมีการเข้า-ออกของลูกจ้างใหม่บ่อยๆอาจทำให้พิจารณาจากประสบการณ์เคลมได้ไม่แม่นยำ จึงอาจใช้หลายปัจจัยในการพิจารณารับประกันด้วย

ส่วนการคิดเบี้ยประกันกลุ่มสวัสดิการลูกจ้างโดยทั่วไปมักคำนวณปีต่อปี ทั้งนี้เพราะประกันกลุ่มประเภทนี้มักเป็นสัญญาแบบชั่วระยะเวลาปีต่อปี (Group Annual Term Insurance or Group Yearly Renewal Term Insurance) (บางครั้งอาจมีการทำสัญญาไว้สั้นๆ เช่น รายสามเดือน หรือหรือยาวกว่านี้ เช่น 2 ปี เป็นต้น) การคำนวณเบี้ยประกันกลุ่มมักใช้วิธี Experience Rating คือคำนวณจากประสบการณ์เคลมของกลุ่มผู้เอาประกันและค่าใช้จ่ายในการจัดการประกันกลุ่มให้กลุ่มผู้เอาประกันแทนนายจ้าง เช่น หากปีที่แล้วมีอัตราการเคลมของกลุ่มผู้เอาประกัน 1 ล้านบาทและมีค่าใช้จ่ายในการจัดการอีก 2 แสนบาทรวมเป็น 1 ล้าน 2 แสนบาท ในปีถัดไปผู้รับประกันอาจคิดเบี้ยประกันกลุ่มไว้ที่ 1 ล้าน 5 แสนบาท เป็นต้น

การประกันกลุ่มแบบดังกล่าวอาจมีการคืนเบี้ยประกันบางส่วนให้ผู้ถือกรมธรรม์ หากอัตราการเคลมต่ำกว่าเบี้ยประกันที่คิดไว้ เรียกเบี้ยประกันที่คืนให้นี้ว่า Experience Refund

หากเป็นการรับประกันกลุ่มสำหรับกลุ่มผู้เอาประกันที่ยังไม่เคยผ่านการทำประกันกลุ่มมาก่อน ผู้รับประกันอาจใช้การอ้างอิงโดยใช้ค่าเฉลี่ยหรือเทียบเคียงกับประกันกลุ่มอื่นๆหลายๆกลุ่มในบริษัทผู้รับประกันเองหรือในธุรกิจประกันมาใช้คำนวณเบี้ยก็ได้ นอกจากนี้ หากกลุ่มผู้เอาประกันมีจำนวนน้อย เช่น น้อยกว่า 10 คน อาจใช้วิธีการคิดเบี้ยแบบประกันชีวิตรายสามัญก็ได้ ซึ่งเรียกการคำนวณเบี้ยแบบนี้ว่า Manual Rating

*Anti-Selection หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลหรือทราบข้อมูลของอีกฝ่ายที่ไม่เท่ากัน (Asymmetric Information)  ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้โอกาสหรืออาศัยประโยชน์ที่ตัวเองทราบข้อมูลดีกว่าอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายตกลงทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับฝ่ายตน ทำให้ตนได้รับประโยชน์และอีกฝ่ายมักเสียประโยชน์ โดยในทางประกันภัยมักหมายถึงการที่ผู้เอาประกันที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปมักมองหาการเอาประกันจากผู้รับประกันมากกว่าคนทั่วไป โดยอาจปกปิดข้อมูลบางอย่างไม่ให้ผู้รับประกันทราบ เพื่อให้ผู้รับประกันตกลงรับประกันภัยให้แก่ตนเอง

**ข้อสังเกต ; จะใช้คำว่า policyholder สำหรับเรียกผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตกลุ่ม ส่วนผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตรายสามัญ (ซึ่งปกติมักเป็นตัวผู้เอาประกันเอง) จะเรียก policyowner ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ผู้ถือประกันชีวิตกลุ่มไม่ได้มีสิทธิ์เหมือนเช่นผู้เอาประกันทั่วไป สิทธิ์ของผู้เอาประกัน เช่น สิทธิ์ในการระบุชื่อหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับผลประโยชน์ สิทธิ์ในการกู้เงินกรมธรรม์ (Policy Loan) สิทธิ์ในการเวนคืนกรมธรรม์ (Surrender) เป็นต้น

***หลักฐานที่แสดงถึงการเอาประกันได้ (Evidence of Insurability) คือ หลักฐานหรือข้อมูลที่จำเป็นต่อการพิจารณารับประกัน โดยทั่วไปในการประกันชีวิตมักหมายถึงหลักฐานที่รับรองสุขภาพของผู้ขอเอาประกันที่อาจมีผลต่อการรับประกัน โดยอาจให้ผู้เอาประกันแถลงสุขภาพหรือตรวจสุขภาพก่อนขอเอาประกันก็ได้

Reference
1. Harriett E. Jones, Steven R. Silver. Principle of Group Insurance. Principle of Insurance 2011.
2. คณะอนุกรรมการประกันชีวิตกลุ่ม. คู่มือการประกันชีวิตกลุ่ม 2557.
3. Group Life Insurance. http://course.uceusa.com/Courses/content/405/ สืบค้นเมื่อ 11/07/2557


ID=2850,MSG=3873
Re: การประกันกลุ่ม (Group Insurance)

Re: การประกันกลุ่ม (Group Insurance)

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรหรือประกันกลุ่มเพื่อสมาชิก (Group Membership or Group Affinity Insurance)

เป็นรูปแบบการประกันกลุ่มที่แตกต่างจากการประกันกลุ่มที่เป็นสวัสดิการให้ลูกจ้าง (Group Employee Benefit) ตรงที่องค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นผู้ถือกรมธรรม์มักไม่ใช่ฐานะนายจ้าง และสมาชิกในองค์กรมักจะเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมด (100% contributory insurance) ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือกรมธรรม์และสมาชิกผู้เอาประกันนั้นจึงมักไม่เกี่ยวข้องกันในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้าง (Employer-Employee Relationship) ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรมักไม่ใช่เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกเหมือนกับประกันกลุ่มเพื่อสวัสดิการลูกจ้าง และสมาชิกสามารถเข้าร่วมการเอาประกันตามความสมัครใจ (Voluntary) ดังนั้นสมาชิกของกลุ่มหรือองค์กรจึงมีสิทธิ์ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรหรือประกันกลุ่มเพื่อสมาชิกที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย คือ ประกันกลุ่มสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตหรือผู้กู้ (ลูกหนี้) ซึ่งมีทั้งการประกันเพื่อคุ้มครองเงินกู้ (Loan Protection) หรือคุ้มครองสินเชื่อ (Credit Protection) ซึ่งเรียกประกันกลุ่มแบบนี้ว่าประกันกลุ่มสินเชื่อ (Group Credit Life Insurance) ซึ่งมักกำหนดให้เงินผลประโยชน์จากการประกันจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมักเป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับแรกก่อน (First or Primary Beneficiary) ส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้แล้วจึงจะนำไปจ่ายให้แก่ผู้รับผลประโยชน์รอง (Contingent Beneficiary) ที่ระบุไว้ นอกจากนี้ยังมีการประกันกลุ่มสำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองตามความต้องการส่วนบุคคล (Individual Protection) ไม่ใช่เพื่อคุ้มครองหนี้

ประกันกลุ่มสำหรับลูกค้าสินเชื่อหรือประกันกลุ่มสินเชื่อ (Group Credit Life Insurance) เป็นการประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ โดยผู้ถือกรมธรรม์จะเป็นเจ้าหนี้ (Lender) โดยมีกลุ่มลูกหนี้ (Debtor) เป็นสมาชิกผู้เอาประกัน โดยทั่วไปเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรหรือสถาบันการเงิน (Financial Institution) ที่มีการปล่อยสินเชื่อหรือให้สินเชื่อ (Credit) แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรหรือสถาบันการเงินนั้นๆ เช่น สหกรณ์ต่างๆ (Cooperative) สหกรณ์ออมทรัพย์ (Credit Union) บริษัทบัตรเครดิต (Credit Card Company) ธนาคาร (Bank) บริษัทเช่าซื้อ (Leasing Company) บริษัทสินเชื่อเงินกู้ (Loan Company) เป็นต้น

การประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองสินเชื่อนั้น ผู้เอาประกันที่เป็นลูกหนี้มักจะต้องเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันเองทั้งหมด โดยเบี้ยประกันจะคำนวณจากวงเงินเอาประกันโดยวงเงินเอาประกันอาจเท่ากับยอดหนี้ (Loan Amount) หรืออาจเป็นยอดที่กำหนดไว้คงที่ก็ได้

สำหรับการประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่ออาจมีช่ือเฉพาะที่เรียกแตกต่างกันออกไป การประกันที่คุ้มครองตามยอดหนี้คงเหลือของบัตรเครดิตมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Credit Shield Insurance ส่วนการประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Mortgage Insurance

การพิจารณารับประกันสำหรับการประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองสินเชื่อนั้นมักจะพิจารณาตามความเสี่ยงของผู้เอาประกันเฉพาะรายเหมือนประกันรายสามัญทั่วไป คือพิจารณาจากอายุ เพศ สุขภาพ อาชีพและทุนประกัน ทั้งนี้ขึ้นกับแบบประกันด้วย หากเป็นแบบประกันที่เบี้ยประกันเป็น Single Rate คือเบี้ยเท่ากันทุกช่วงอายุรับประกัน โดยไม่สนเพศและวัย อาจพิจารณาจากทุนประกันและภาวะสุขภาพของผู้เอาประกันเท่านั้น ถ้าเป็นแบบประกันที่เป็น Age-Band Premium คืออัตราเบี้ยคำนวณตามอายุรวมทั้งแบ่งตามเพศในบางกรณีก็อาจพิจารณารับประกันจากอายุ เพศ สุขภาพ อาชีพและทุนประกัน เป็นต้น

สำหรับวงเงินหรือทุนเอาประกันสำหรับการประกันสินเชื่อนั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ

1. แบบทุนลด (Reducing or Decreasing Face Amount) โดยทุนประกันเริ่มต้นมักจะเท่ากับยอดหนี้ตอนเอาประกัน หลังจากนั้นทุนประกันจะค่อยๆลดลงตามยอดหนี้ที่ลดลงเนื่องจากโดยทั่วไปลูกหนี้จะต้องชำระหนี้เป็นงวดตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นทุนประกันจะลดลงจนเหลือเท่ากับศูนย์เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกันซึ่งส่วนใหญ่จะเท่ากับระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้นั่นเอง

เช่น ยอดหนี้ 1 ล้านบาท ระยะเวลาชำระหนี้ 10 ปี ดังนั้นทุนประกันจะเท่ากับยอดหนี้คือ 1 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี โดยทุนประกันจะลดลงทุกปีจนเท่ากับ 0 บาทเมื่อสิ้นปีที่ 10 เป็นต้น

ประกันกลุ่มที่คุ้มครองสินเชื่อมักเป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) (เพราะยอดหนี้ที่ต้องชำระมีระยะเวลาให้ชำระตามที่กำหนดไว้และที่สำคัญคือเนื่องจากเน้นความคุ้มครองสินเชื่อจึงไม่มีการสะสมมูลค่าเงินสดและมักไม่มีเงินการกำหนดผลประโยชน์เงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา) แบบประกันที่เป็นแบบชั่วระยะเวลาโดยทุนลดลงตามระยะเวลามีช่ือเรียกว่า Reducing Term Insurance (หรือ Reducing Term Assurance) หากเป็นประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นแบบชั่วระยะเวลาโดยทุนลดลงตามระยะเวลามีช่ือเรียกว่า Mortgage Reducing Term Assurance (MRTA) อย่างไรก็ตามในหนังสือ Principle of Insurance (Edition 2011) ได้ระบุความแตกต่างของ MRTA จาก Credit Life Insurance ตรงที่ว่า MRTA นั้นผู้เอาประกันไม่จำเป็นต้องระบุเจ้าหนี้เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก แต่ Credit Life Insurance นั้นจะกำหนดให้เจ้าหนี้เป็นผู้รับผลประโยชน์หลักเสมอ*

2. แบบทุนคงที่ (Level Face Amount ) ทุนประกันเริ่มต้นจะกำหนดไว้เป็นจำนวนแน่นอนและคงที่ตลอดสัญญา ดังนั้นทุนเอาประกันไม่จำเป็นต้องเท่ากับยอดหนี้ก็ได้ แต่มักจะกำหนดระยะเวลาคุ้มครองเอาไว้ ทั้งนี้แม้ยอดหนี้จะลดลงหรือเหลือเท่ากับศูนย์แต่วงเงินเอาประกันภัยก็ยังคงที่เท่าเดิม เช่น ทุนประกัน 200,000 บาท คงที่ตลอดสัญญา เป็นต้น

การชำระเบี้ยประกันมี 2 ลักษณะ คือ

1.ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) ผู้เอาประกันชำระเบี้ยแค่ครั้งเดียวแต่ความคุ้มครองจะยาวไปจนสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ชำระเบี้ยครั้งเดียวแต่คุ้มครอง 5 ปี หรือ 10 ปี (ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงตามระยะเวลากู้หรือระยะเวลาในการชำระหนี้) เป็นต้น

2.ชำระเบี้ยรายปี (Annually Premium) ซึ่งมี 2 แบบคือ

2.1 Limited Premium Payment คือกำหนดระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยไว้น้อยกว่าระยะเวลาคุ้มครอง เช่น จ่ายเบี้ย 5 ปีแต่ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี เป็นต้น

2.2 Continuous Premium payment คือระยะเวลาที่ชำระเบี้ยเท่ากับระยะเวลาที่คุ้มครอง ดังนั้นผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยตลอดเพื่อให้สัญญายังมีผลบังคับ เช่น จ่ายเบี้ย 10 ปี เท่ากับระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี เป็นต้น

วิธีการชำระเบี้ยรายปีทั้ง 2 แบบอาจเปิดให้เลือกชำระเป็นรายงวด ทั้งราย 6 เดือน (Semi-annual) ราย 3 เดือน (Quarterly) หรือรายเดือน (Monthly) ได้

ส่วนเบี้ยประกัน (Premium) ที่ชำระอาจเป็นแบบชำระอัตราคงที่ตลอดสัญญา (Level Premium) หรือเพิ่มขึ้น (Increasing Premium) ในแต่ละปีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ข้อดีของ Level Premium คือผู้เอาประกันชำระเบี้ยเท่าเดิมไปจนครบระยะเวลาชำระเบี้ยทำให้ผู้เอาประกันไม่ค่อยทิ้งกรมธรรม์ให้สิ้นผลบังคับ (Lapse) ในปีท้ายๆ แต่หากเป็น Increasing Premium ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยสูงขึ้นในปีหลังๆเนื่องจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุและสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงจนบางครั้งอาจแบกรับภาระเบี้ยที่สูงขึ้นในปีหลังๆไม่ไหวและอาจทิ้งกรมธรรม์ให้สิ้นผลบังคับในปีท้ายๆในที่สุด

กรมธรรม์ประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรที่เป็นแบบชั่วระยะเวลา อาจกำหนดระยะเวลาให้สัญญามีอายุสั้นตั้งแต่ 1 ปี ซึ่งต้องต่อสัญญาเป็นปีๆ (Yearly Renewal Term หรือ YRT) และสามารถต่ออายุได้ทุกปีอัตโนมัติ ( Automatic Renew) โดยที่ผู้เอาประกันไม่ต้องส่งหลักฐานที่รับรองว่าเอาประกันได้ ( Evidence of Insurability) ให้แก่ผู้รับประกัน นอกจากนี้ยังกำหนดแบบที่ให้ความคุ้มครองยาว (Long Policy Term) ไปจนถึงสิ้นสุดอายุที่กำหนดตราบเท่าที่ผู้เอาประกันชำระเบี้ยตามที่กำหนด

ประกันที่คุ้มครองสินเชื่อนั้น หากลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เอาประกันชำระเบี้ยไว้จนครอบคลุมตามระยะเวลาคุ้มครองแล้ว หากผู้เอาประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้หมดก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาที่ประกันคุ้มครอง ผู้เอาประกันสามารถเลือกที่จะคงสัญญาประกันไปจนสิ้นสุดสัญญาหรือจะเลือกยกเลิกกรมธรรม์เพื่อเวนคืน (Surrender) เบี้ยประกันส่วนที่เป็นช่วงระยะเวลาที่เหลือก็ได้ (ในการเวนคืนกรมธรรม์ที่คุ้มครองหนี้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันจะต้องตรวจสอบก่อนว่าไม่มียอดหนี้ที่ผู้เอาประกันค้างกับเจ้าหนี้ (ซึ่งคือผู้ถือกรมธรรม์) แล้ว หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้จึงจะดำเนินการให้ได้

ส่วนการประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรอีกรูปแบบหนึ่งคือเป็นแบบคุ้มครองส่วนบุคคล (Group Individual Protection Insurance) เป็นการการประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรที่ไม่ใช่เพื่อคุ้มครองหนี้แต่มีวัตถุประสงค์เหมือนการประกันชีวิตรายเดี่ยวคือเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงส่วนบุคคล ดังนั้นองค์กรหรือหน่วยงานเป็นเพียงผู้ถือกรมธรรม์เท่านั้นไม่มีส่วนในการเป็นผู้รับผลประโยชน์ สมาชิกผู้เอาประกันสามารถระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นใครก็ได้ตามกฎหมาย

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรแบบคุ้มครองส่วนบุคคล (Group Individual Protection Insurance) ที่เห็นได้ชัดในบ้านเราคือประกันที่เสนอขายให้แก่สมาชิกบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการเสนอขายผ่านทางโทรศัพท์ (Telemarketing Channel) โดยเป็นแผนความคุ้มครองสำเร็จรูปที่อาจมีความคุ้มครองหลากหลายรวมไว้เป็นแพคเกจ เช่น ประกันชีวิต ที่มีผลประโยชน์ด้านประกันชีวิตและทุพลภาพจากอุบัติเหตุ ค่าชดเชยรายวันกรณีรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ที่สำคัญคือรูปแบบผลประโยชน์ความคุ้มครองที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ขั้นตอนการขายและการพิจารณารับประกันง่ายๆไม่ซับซ้อนและเบี้ยประกันที่ไม่แพง เพื่อให้สามารถดึงดูดใจลูกค้า

วิธีการชำระเบี้ยส่วนใหญ่มักจะหักผ่านบัตรเครดิตที่ผู้เอาประกันเป็นสมาชิกอยู่และนิยมหักเป็นรายเดือน

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรหรือประกันกลุ่มเพื่อสมาชิกกลุ่มอีกประเภทหนึ่งที่พบในประเทศไทยคือ การประกันภัยแบบคุ้มครองรวม (Blanket Insurance) ซึ่งเป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองภัยที่จำเพาะบางอย่าง (Specific Hazard) ให้แก่สมาชิกขององค์กรเป็นระยะเวลาชั่วคราว (Temporary) เช่น ประกันการเดินทางสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ ประกันอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับกลุ่มทัศนศึกษาของโรงเรียน เป็นต้น โดยการประกันภัยแบบคุ้มครองรวมจะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้ถือกรมธรรม์เพียงฉบับเดียวที่ระบุภัยที่เอาประกันไว้และมักจะไม่ระบุผู้เอาประกันเป็นรายๆ นอกจากนี้มักเป็นความคุ้มครองแบบชั่วคราวที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครองไว้โดยมากคือเริ่มต้นคุ้มครองตอนความเสี่ยงภัยนั้นเริ่มต้น และความคุ้มครองสิ้นสุดหลังจากจบสิ้นระยะเสี่ยงภัยนั้น เช่น สำหรับกลุ่มทัศนศึกษาของโรงเรียน กรมธรรม์มักระบุเริ่มต้นความคุ้มครอง ณ วัน ที่มีการออกเดินทางไปทัศนศึกษาและวันสิ้นสุดความคุ้มครอง ณ วันที่สิ้นสุดการทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้การประกันภัยแบบคุ้มครองรวมมักจะไม่มีการออกใบรับรองการเอาประกันภัย (Certificate of Insurance) ให้แก่ผู้เอาประกัน เนื่องจากเป็นการประกันเหมารวมกลุ่มคนไว้แล้ว


ID=2850,MSG=3874


⭐️ เราให้คำแนะนำปรึกษา รักษาผลประโยชน์ให้ลูกค้า ของเรา
⭐️ เราอยู่เคียงข้างลูกค้าของเรา ช่วยเหลือ ดูแลบริการ
⭐️ เรารองรับช่องทางติดต่อมากมาย สะดวก เข้าถึงง่าย
⭐️ เราดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า20 ปี คุณจึงมั่นใจได้
⭐️ คุณมีสามารถรับบริการทั้งจากบริษัทประกันเจ้าของสินค้า และ เรา (ตัวกลาง)

ไทย มีราว 80 บริษัทประกันภัย สินค้าที่แตกต่าง ทั้ง เงื่อนไข ราคา เคลม ความมั่นคง นโยบาย ฯลฯ
ขายผ่านตัวกลาง กว่า 500,000 ราย : ตัวแทน นายหน้า ธนาคาร บิ๊กซี โลตัส ค่ายรถยนต์ เฮ้าส์แบรนด์ ของประกันภัย หรือ ซื้อตรงกับบริษัทเจ้าของสินค้า
⭐️ ตัวอย่าง การบริการ กดดูที่ลิงค์นี้

"สิ่งที่ต้องคำนึงอันดับแรกในการซื้อประกัน คือ ตัวกลางประกันภัย ซึ่งจะเป็นที่ปรึกษา ช่วยเหลือ ดูแลเรา ตลอดอายุกรมธรรม์"

โปรดรอ

display:inline-block; position:relative;
โทร.(จ-ศ : 9-16) เว้นวันหยุดฯ , ลูกค้าเรา บริการ 24/7/365 , Tuesday เวลา 05:05:28pm (ลูกค้าเราติดต่อทางไลน์พิเศษที่ให้ไว้ตอนซื้อประกัน😍)
Copyright © 2018 Cymiz.com., All rights reserved.นโยบาย,ข้อตกลงcymiz.com